การศัลยกรรมหน้าอกเป็นหนึ่งในความฝันที่สาวๆ หลายคนอยากลองทำซักครั้งในชีวิต เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจและความสวยงามให้กับรูปร่างของตัวเอง แต่หลายคนก็ยังลังเลถึงผลที่จะตามมา ไม่แน่ใจว่าจะทำดีไหม มีผลข้างเคียงหรือเปล่า และต้องดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง? และนี่คือ 10 ข้อสำคัญที่ควรรู้และทำความเข้าใจ…ก่อนตัดสินใจทำศัลยกรรมเสริมหน้าอก
ข้อควรรู้ก่อนทำศัลยกรรมหน้าอก หรือเสริมหน้าอก
1 ต้องถามตัวเองก่อนว่า ‘ต้องการอะไร?’
ก่อนที่จะตัดสินใจทำสาวๆ ควรถามตัวเองก่อนว่า ‘ตัวเองต้องการอะไร?’ หรือ ‘ปัญหาของเราคืออะไร?’ จึงจะได้คำตอบว่าทำไมถึงต้องทำศัลยกรรมเสริมหน้าอก ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว ปัญหาของคนที่ตัดสินใจศัลยกรรมหน้าอกมักจะมี 2 ข้อ คือ
- มีปัญหาขนาดเต้านมเล็ก ไม่สมส่วนกับขนาดของลำตัว เช่น บางคนเป็นคนตัวสูง ไหล่กว้าง ตัวใหญ่ แต่ขนาดเต้านมคัพ A ดูแล้วไม่สมส่วน จึงต้องการเสริมหน้าอกเพื่อแก้ไขจุดบกพร่องในร่างกาย ซึ่งโดยส่วนใหญ่กลุ่มนี้มักจะเป็นกลุ่มอายุ 20-30 ปี
- ต้องการแก้ไขปัญหาหน้าอกหย่อนคล้อยหลังมีบุตร โดยปกติแล้วคุณแม่ตั้งครรภ์หลังมีบุตรและในนมบุตรไประยะเวลาหนึ่งเต้านมจะฝ่อลง มีลักษณะหย่อนคล้อย และดูไม่สวยงามได้รูปเหมือนตอนสาวๆ การทำศัลยกรรมหน้าอกจะช่วยให้รูปทรงหน้าอกกลับมาดูสวยงามและสมส่วนมากขึ้น
2 ต้องรู้ว่าหน้าอกตัวเองมีความผิดปกติอะไรหรือไม่ ?
ก่อนจะตัดสินใจทำศัลยกรรมหน้าอก เราต้องรู้ก่อนว่านอกจากเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว ภายในหน้าอกของเรามีปัญหาอะไรไหม? มีก้อนเนื้อ หรือเจ็บตรงไหนหรือเปล่า? หากมีอะไรที่เราไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะมีโอกาสเป็นเนื้องอกหรือมะเร็ง ควรจะไปตรวจและรักษาให้เรียบร้อยก่อนค่อยคิดจะทำศัลยกรรมหน้าอก
การตรวจสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การคลำหน้าอกเพื่อตรวจร่างกายเบื้องต้นด้วยตัวเอง หรือการตรวจร่างกายโดยแพทย์ด้วยการเอกซ์เรย์เต้านม เมมโมแกรม หรืออัลตร้าซาวด์เต้านม
3.รู้ความแตกต่างของซิลิโคนแต่ละชนิด
ทุกวันนี้เราสามารถหาความรู้เรื่องซิลิโคนเสริมหน้าอกกันเองได้ในอินเทอร์เน็ตแล้ว แต่หากอยากรู้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ รวมไปถึงสามารถเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของซิลิโคนแต่ละชนิดได้ ควรเข้ามาปรึกษาแพทย์โดยตรงที่โรงพยาบาล
การแบ่งชนิดของซิลิโคนแบ่งได้หลายแบบ
- แบ่งตามสิ่งที่บรรจุอยู่ข้างใน เช่น แบบบรรจุน้ำเกลือ และแบบบรรจุซิลิโคนเจล
- แบบบรรจุน้ำเกลือ จะเป็นการผ่าตัดเพื่อเอาถุงซิลิโคนเปล่าเข้าไปในเต้านม บริเวณถุงจะมีสายยางต่อออกมาข้างนอกเพื่อส่งน้ำเกลือเข้าไปในถุง เช่น หากเราเลือกถุงขนาด 300cc เมื่อผ่าตัดเสร็จและวางถุงน้ำเกลือตรงตำแหน่งแล้วจึงจะเติมน้ำเกลือเข้าไปทางสายยาง ให้เต็มถุงตามปริมาตรที่ต้องการ ถุงซิลิโคนที่บรรจุน้ำเกลือก็จะพองขึ้นมาคล้ายซิลิโคนเจล เสร็จแล้วจึงจะถอดสายออก และปิดถุงน้ำเกลือ
- แบบซิลิโคนเจล เป็นซิลิโคนเกรดสำหรับใช้ในการแพทย์ เจลที่อยู่ข้างในจะมีความนิ่ม ยืดหยุ่น และเหนียวมาก สามารถเปลี่ยนรูปทรงได้ตามแรงบีบ
- แบ่งตามผิวสัมผัส เช่น แบบผิวเรียบ และแบบผิวทราย
- แบบผิวเรียบ จะมีความใสมากและพื้นผิวเรียบมาก
- แบบผิวทราย ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาพังผืดรัดตัวหลังการผ่าตัด เพราะในอดีตมักจะเกิดปัญหาเต้านมแข็งขึ้นหลังจากผ่าตัดไปได้ 6 เดือนเนื่องจากการใช้ซิลิโคนแบบผิวเรียบ ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าพังผืดรัดตัว หน้าอกแข็งมากขึ้น ทั้งๆ ที่หลังตอนทำเสร็จใหม่ๆ เคยนิ่มกว่านี้ จึงมีการพัฒนาแบบผิวทรายขึ้นมาเพื่อลดปัญหาพังผืด แต่ในปัจจุบันยังมีการใช้อยู่ทั้ง 2 แบบขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์และความต้องการของคนไข้
- แบ่งตามรูปทรงของซิลิโคน คือ ทรงกลม และทรงหยดน้ำ
- ทรงกลม แบบนี้จะกลมเท่ากันทั้งลูก เหมือนลูกบอลที่กลิ้งไปมาได้ ไม่มีปัญหาในการดูแลระยะยาว และผ่าตัดง่ายมากกว่าทรงหยดน้ำ
- ทรงหยดน้ำ ออกแบบมาเพื่อให้มันเหมือนหน้าอกจริง ด้านบนจะแบน ด้านล่างจะคล้อยลงมา ซึ่งแบบนี้ระยะหลังเป็นที่นิยมกันมากขึ้น แต่ปัญหาคือผ่าตัดและดูแลยากกว่าทรงกลม ต้องใช้แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญสูงเนื่องจากมีโอกาสที่ซิลิโคนจะหมุนกลับด้านบ้าง และเมื่อมีปัญหาต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัดซ้ำ หรือต้องนวดบ่อยๆ เพื่อช่วยให้ซิลิโคนเข้าที่
4.เลือกขนาดซิลิโคนให้เหมาะสมกับขนาดตัว
หลายคนอาจจะเคยมีความคิดว่าถ้าจะเจ็บตัวทั้งทีควรทำให้ใหญ่ไปเลย แต่ในความจริงแล้วการเลือกขนาดของซิลิโคนต้องคำนึงถึงสรีระของเราด้วย เนื่องจากขนาดที่ไม่เหมาะสมทำให้เกิดผลเสียตามมา ดังนี้
- หน้าอกที่ใหญ่เกินไป จะทำให้รู้สึกแน่น หายใจไม่ออก และปวดหลัง
- เกิดปัญหาหัวนมชา เนื่องจากซิลิโคนขนาดใหญ่ไปเบียดหัวนมและเส้นประสาท
- ยิ่งขนาดใหญ่มากโอกาสที่นมจะแข็งเพราะพังผืดรัดตัวก็ยิ่งสูงขึ้น
วิธีการเลือกซิลิโคนที่ทำให้ได้ขนาดที่พอดีกับสรีระ โดยการวัดขนาดรอบอก วัดเส้นผ่านสูงกลางหน้าอก ความสูงหน้าอก วัดระยะจากหัวนมถึงฐานนม จากนั้นจึงค่อยมาเปิดแคตตาล็อกเพื่อเลือกขนาดซิลิโคนที่เหมาะสม และยังมีอีกวิธีง่ายๆ คือ ให้เอาเสื้อชั้นในคัพที่เราต้องการมาลองใส่ แล้วเอาไซส์ซิลิโคนที่ต้องการมาลองใส่เข้าไปให้พอดี จากนั้นดูกระจกด้วยตัวเองว่าชอบรูปร่างตอนนี้หรือยัง แล้วจึงให้แพทย์ช่วยวัดด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์อีกทีว่าขนาดที่เราพอใจเป็นขนาดที่เหมาะกับตัวเองไหม
5.ตำแหน่งแผลผ่าตัดมีผลกับการดูแลตัวเองหลังผ่า
แผลผ่าตัดหน้าอกมี 3 ตำแหน่งคือ
- บริเวณรักแร้ รอยแผลบริเวณนี้จะเหมาะสำหรับคนไทย เนื่องจากโดยปกติแล้วคนเอเชียมักจะมีรอยแผลหลังผ่าตัด แผลหายช้า และมีโอกาสที่แผลจะนูนมากกว่าคนชาติอื่น หากไม่ต้องการให้เห็นรอยแผลเป็นเลยสามารถซ่อนรอยแผลไว้บริเวณใต้รักแร้ได้ แต่ในช่วงแรกหลังการผ่าตัดจะเจ็บแผลมากเนื่องจากใกล้กับกล้ามเนื้อแขนพอดี ทำให้เคลื่อนไหวมากไม่ได้
- บริเวณราวนม รอยแผลบริเวณนี้เป็นที่นิยมในกลุ่มชาวต่างชาติ เหมาะสำหรับคนที่แผลหายเร็ว และไม่เป็นแผลเป็นนูน สามารถผ่าตัดได้ง่ายกว่าและจัดทรงง่ายกว่าการผ่าที่ตำแหน่งอื่น ทุกวันนี้คนไข้นิยมแบบนี้กันมาก แต่สำหรับคนที่แผลหายช้าอาจจะเป็นแผลเป็นได้ ทำให้มีรอยแผลที่บริเวณขอบชุดชั้นใน
- บริเวณปานนม อยู่ตรงบริเวณรอยต่อของผิวสีเข้มและผิวสีอ่อนตรงหัวนม เวลาแผลหายจะมองไม่ค่อยเห็น การผ่าตัดทำได้ง่ายเหมือนแผลที่บริเวณราวนม สามารถซ่อนแผลได้ แต่ข้อเสียคือบางรายอาจจะอาการหัวนมชา เพราะการผ่าตัดใกล้หัวนมมาก และการผ่าตัดบริเวณนี้เป็นจุดเดียวที่อาจจะไปรบกวนเนื้อหน้าอกด้วย
6.ต้องรู้ด้วยว่าซิลิโคนที่จะใส่เข้าไปอยู่ส่วนไหนของหน้าอก
ตำแหน่งของซิลิโคนจะมี 2 แบบด้วยกันคือ วางไว้ใต้กล้ามเนื้อ หรือ วางไว้เหนือกล้ามเนื้อ
ซึ่งการวางไว้ใต้กล้ามเนื้อจะเหมาะสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเนื้อหน้าอก ต้องใส่ซิลิโคนไว้ใต้กล้ามเนื้อเพื่อเอาเนื้อหน้าอกมาคลุมเนื้อซิลิโคน และป้องกันการการเต้านมแข็ง หลังผ่าตัดจะค่อนข้างเจ็บมากและยกแขนได้ลำบากในช่วงแรก
ส่วนการวางไว้บนกล้ามเนื้อจะเหมาะกับผู้หญิงที่มีเนื้อหน้าอกอยู่บ้าง แพทย์จะใส่ซิลิโคนเหนือหน้าอก เพราะคนไข้มีเนื้อหน้าอกอยู่แล้ว การใส่เหนือกล้ามเนื้อจะช่วยยกทรงและแก้ปัญหาเต้านมคล้อยได้ คนที่ใส่ซิลิโคนเหนือเต้านมจะเจ็บน้อยกว่า และใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 1 สัปดาห์เท่านั้น
7.ใส่ใจในการเลือกแพทย์..เพราะความปลอดภัยสำคัญเป็นอันดับแรก
เมื่อรู้แล้วว่าจะเลือกซิลิโคนอย่างไร เลือกไซส์ไหน สิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุดคือเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรก เนื่องจากการผ่าตัดหน้าอกถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ ต้องมีการฉีดยาชาและดมยาสลบก่อนผ่าตัด จึงต้องทำในห้องผ่าตัดที่ได้รับมาตรฐานและทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
8.เตรียมตัวให้พร้อมทุกด้านก่อนการผ่าตัด
ก่อนเข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรมหน้าอก คนไข้ต้องเตรียมตัวเหมือนการผ่าตัดใหญ่ทั่วไป ซึ่งมีขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติ ดังนี้
- ต้องมาตรวจร่างกายก่อนเข้ารับการผ่าตัด และต้องไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นอันตรายกับการผ่าตัด เช่น โรคที่เกี่ยวกับอาการความดันสูง ต้องทำให้อยู่ในเกณฑ์ปกติที่สามารถดมยาสลบเพื่อผ่าตัดได้
- ผลตรวจต้องเลือดปกติ
- ก่อนผ่าตัดใหญ่ต้องงดน้ำและอาหาร 12 ชั่วโมง
- ถ้ากำลังจะมีประจำเดือนในช่วงที่ต้องผ่าตัดควรกินยาเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากการผ่าตัดหน้าอกมีการเสียเลือดมาก
- งดแอลกอฮอล์ และงดบุหรี่ 1 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด เนื่องจากอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดได้
- งดยาบางชนิด อาหารเสริม หรือวิตามินที่มีผลให้เลือดไม่แข็งตัวหรือหยุดไหลช้า
9.ให้ความสำคัญกับการดูแลแผลหลังผ่าตัด
- โดยปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์จึงจะตัดไหมได้
- หลังจากผ่าตัดแล้วต้องหมั่นนวดหน้าอกเป็นประจำเพื่อให้ซิลิโคนเข้าที่และหน้าอกไม่แข็งเพราะพังผืดหดตัว
- ต้องคอยระวังเรื่องน้ำเหลืองคั่ง หรือเลือดเก่าคั่งในหน้าอก
- ต้องระวังการแผลอักเสบ โดยหลังจากผ่าตัดในช่วงแรกไม่ควรทำงานหนัก งดออกกำลังกาย หรือใช้แรงเยอะ มิฉะนั้นแผลจะฉีกหรือเกิดการอักเสบได้
10.หากดูแลตัวเองดี ซิลิโคนอยู่ได้นานเป็น 10 ปี
การเลือกซิลิโคนและเลือกแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการผ่าตัด จะทำให้การศัลยกรรมหน้าอกปลอดภัยและอยู่ได้นาน เนื่องจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญสามารถแนะนำซิลิโคนที่ได้มาตรฐานและเหมาะกับเราได้ โดยปกติแล้วโรงงานที่ผลิตซิลิโคนเกรดการแพทย์จะรับประกันอายุการใช้งานเพียง 5 ปี แต่หากหลังตรวจสุขภาพและพบว่าไม่มีปัญหาอะไร คนไข้ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อแก้ไขหรือเปลี่ยนซิลิโคน เพราะถ้าดูแลตัวเองดีซิลิโคนนี้สามารถอยู่ได้ถึง 10 ปีเลยทีเดียว
Advertisement