เส้นผมและหนังศีรษะเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายที่สร้างความสวยงามดึงดูดให้กับผู้เป็นเจ้าของ ปัจจุบันคนส่วนใหญ่หันมาใส่ใจสุขภาพเส้นผมและหนังศีรษะมากขึ้น การมีความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับโรคเส้นผมและหนังศีรษะเบื้องต้นจึงมีความสำคัญ
วงจรการเจริญของเส้นผม
วงจรการเจริญงอกงามของเส้นผมบนหนังศีรษะ แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
1) ระยะเจริญงอกงาม
2) ระยะพัก
3) ระยะเปลี่ยนสภาพ
แต่ละช่วงใช้เวลาต่างกัน โดยระยะเจริญงอกยาวของเส้นผมในสภาวะปกติ เส้นผมคนเราสามารถหลุดร่วงได้มากถึงวันละ 120 – 160 เส้น หากมากกว่านี้หรือร่วมกับมีอาการผิดปกติของหนังศีรษะ เช่น คัน แสบ แดง มีสะเก็ด หรือเป็นหนองพุพองถือว่าเป็นภาวะผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญ
สาเหตุผมร่วง ผมบาง
1) ความเจ็บป่วยทางกาย
– ส่วนมากมีสาเหตุมาจากโรคต่อมไทรอยด์ (Thyroid Problems) รวมทั้งการเสียสมดุลการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่ทำงานเพิ่มมากขึ้นหรือน้อยผิดปกติ
– ภาวะภูมิแพ้อวัยวะภายใน และต่อมามีการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อต้านต่อรากผมเฉพาะที่หรือทั่วร่างกาย
– โรคผิวหนังเดิมของผู้ป่วยสามารถทำให้มีรอยโรค มีการอักเสบที่รบกวนการเติบโตของเส้นผม รวมถึงการติดเชื้อ เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย และเชื้อไวรัสของหนังศีรษะ
– การเจ็บป่วยทางกายอื่น ๆ ทั้งที่เรื้อรังและเฉียบพลันสามารถส่งผลรบกวนวงจรการเติบโตของเส้นผม มีผลให้การเติบโตหยุดชะงักและหลุดร่วงในปริมาณมากได้ แต่เมื่อได้รับการรักษาแล้วเส้นผมจะค่อย ๆ ทยอยกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
2) ยา อาหารเสริม วิตามินบางชนิด
การบริโภคยาบางชนิด เช่น ยาลดไขมันในเส้นเลือด ยารักษาสิวที่มีส่วนผสมของวิตามินสังเคราะห์ ยารักษาโรคมะเร็ง ยากดภูมิคุ้มกัน ยารักษาโรคไขข้อเสื่อม ไขข้ออักเสบ ยาลดความเครียด ยาลดความดันบางชนิด รวมถึงวิตามินเสริมบางชนิดที่บริโภคมากเกินกว่าความต้องการของร่างกาย โดยที่ร่างกายไม่จำเป็นต้องได้รับในปริมาณที่เกินกำหนดจะมีผลไประงับการเจริญเติบโตของรากผม ทำให้เกิดผมร่วงและจะกลับมาเป็นปกติเมื่อหยุดยาและวิตามินเสริมนั้น ๆ
3) ความเครียดสะสม
การงอกของเส้นผมคนเราอ่อนไหวและไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และสภาวะกายใจ
- ความเครียด หมายรวมถึง ความเครียดทางกาย คือ การบาดเจ็บ อาการเจ็บป่วยรุนแรง หรือเรื้อรัง การออกกำลังกายที่หักโหม การให้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม การย้อม ดัด ยืดด้วยสารเคมี และการจัดแต่งทรงผมที่ดึงรั้ง ได้แก่ การมัดผมรวบตึง การถักผมเปียถาวร รวมถึงการเดินทางไกล ย้ายถิ่นฐาน เหล่านี้ถือเป็นปัจจัยทางกายทั้งสิ้น
- ความเครียดทางใจ ความวิตกกังวล นับเป็นเหตุสำคัญที่มักทำให้เกิดผมร่วงเรื้อรังตามมา ยากแก่การแก้ไข บางรายดึงถอนผมบนศีรษะโดยไม่รู้ตัว มักพบในเด็กและวัยรุ่นที่มีภาวะเครียด จนทำให้เป็นแผลติดเชื้อ หนังศีรษะถูกทำลาย และถูกแทนที่ด้วยพังผืด แผลเป็น นำไปสู่การสูญเสียรากผมแบบถาวรได้ ผู้ป่วยบางรายมีความเครียดสะสมต่อเนื่อง ทำให้มีอาการผมร่วงติดต่อกันเป็นเวลานาน ยากแก่การแก้ไข จำเป็นต้องรับการปรึกษาทั้งจากแพทย์เฉพาะทางด้านเส้นผมและหนังศีรษะและจากจิตแพทย์ร่วมด้วย
4) ภาวะโภชนาการบกพร่อง
คนที่มีความกังวลเกี่ยวกับรูปร่าง ลดน้ำหนักตัวผิดวิธี น้ำหนักตัวลดลงมากในช่วงเวลาสั้น ๆ บางคนมากจนมีภาวะขาดสารอาหาร ยิ่งเสริมให้เส้นผมเปราะหักง่ายและดูบางลงเช่นกัน ซึ่งธาตุเหล็กนั้นมีความจำเป็นต่อการเจริญของเส้นผม ธาตุเหล็กพบได้ในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ไข่ นม ผักใบเขียว เมล็ดพันธ์ุพืชบางชนิด ผู้ป่วยที่ขาดธาตุเหล็กนอกจากผมร่วงแล้วอาจมีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น อ่อนเพลีย เล็บเปราะบาง ลิ้นแดงเลี่ยนแสบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุสำคัญอื่น ๆ ที่ส่งเสริมภาวะผมร่วงจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การรักษาได้ทันท่วงทีต่อไป
5) พันธุกรรม
- นับเป็นปัญหาสำคัญ ปัจจุบันพบว่ามีการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ทำให้เส้นผมเล็ก บางลง เมื่อเจริญวัยขึ้นการถ่ายทอดนี้เป็นพันธุกรรมเด่น มักพบมีประวัติญาติสายตรง บิดา มารดา พี่น้อง มีภาวะผมบาง ศีรษะล้าน โดยในเพศชายพบอุบัติการณ์ 50% และเพศหญิงพบได้ถึง 70% เมื่อย่างเข้าอายุปีที่ 50
- กลไกการเกิดผมบาง ศีรษะล้านจากพันธุกรรมนี้เกิดจากมีฮอร์โมน DHT (Dihydrotestosterone) เป็นตัวการหลักที่ทำให้เส้นผมที่งอกใหม่มีขนาดเล็กลง เมื่อเวลาผ่านไปเส้นผมที่เล็กลงจะไม่สามารถปกปิดหนังศีรษะได้ดังเดิม
- ไม่มีความจำเป็นต้องกังวล หากท่านมีปัจจัยเสริมทางพันธุกรรม แนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทางตั้งแต่เริ่มมีอาการเพื่อรับคำแนะนำและวางแผนการรักษาระยะยาวต่อไป โดยมีการรักษาหลัก ๆ ดังนี้
- รับประทานยา โดยยากลุ่มหลักจะมีฤทธิ์ต้านการออกฤทธิ์ของฮอร์โมน DHT ทำให้เส้นผมค่อย ๆ กลับคืนสู่ขนาดปกติ ใช้ได้ดีในกลุ่มผู้ป่วยชายที่ผมบางจากพันธุกรรม ส่วนผู้ป่วยหญิงนั้นต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป เนื่องจากยังไม่มีผลการวิจัยจากยาชนิดใดยืนยันว่าได้ผลชัดเจน และยังมีผลข้างเคียงที่ควรทราบก่อนการใช้ยาทั้งฝ่ายชายและหญิง
- ทายากระตุ้นเส้นผม โดยตัวยาออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยารับประทาน แต่เป็นชนิดทา ผลข้างเคียงน้อย สามารถใช้ได้ทั้งหญิงและชาย
- การผ่าตัดปลูกถ่ายเส้นผม ปัจจุบันมีทั้งวิธีการผ่าตัดและการสกัดเจาะรากผม แล้วย้ายรากผมมาปลูกลงในบริเวณที่ผู้ป่วยต้องการ ไม่จำเป็นว่าการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น หุ่นยนต์ จะเหมาะกับผู้ป่วยทุกราย จึงควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโดยตรง
- การฝังเส้นผมเทียมบนหนังศีรษะ หรือที่รู้จักกันในชื่อเส้นไฟเบอร์ วิธีนี้เคยได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศญี่ปุ่น แต่ต่อมาพบว่ามีภาวะแทรกซ้อนไม่พึงประสงค์หลายประการ อันได้แก่ แผลเป็นดึงรั้งหนังศีรษะ เส้นผมเทียมเปลี่ยนสี เปลี่ยนสภาพ หดงอในภายหลัง เป็นเหตุให้ผู้ป่วยต้องมาถอนออก และรับการปลูกถ่ายเส้นผมทดแทนในเวลาต่อมา
- การใช้ผงไฟเบอร์ที่มีสีสันเดียวกับสีผมเดิม โรยเคลือบให้เส้นผมในบริเวณที่บางมีความหนาและยังช่วยพรางตาให้ดูดกดำขึ้น
- การสวมวิกผมปลอม หรือการใช้ Hair Piece ติดเสริมให้ผมดก เป็นอีกวิธีที่สะดวก ประหยัด และสามารถเปลี่ยนแบบทรงผมได้เท่าที่ต้องการ
นอกเหนือจากที่กล่าวมา ยังมีโรคเส้นผมและหนังศีรษะอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุให้ผมร่วง ซึ่งมักเป็นโรคที่มีความซับซ้อน หรือเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม เป็นกลุ่มโรคที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมที่เหมาะสมต่อไป
Advertisement